จักรยานเสือหมอบ

การปั่นจักยานเสือหมอบในเมือง
การปั่นจักรยานในเมืองนั้นว่ากันแล้วก็ถือว่าอันตรายพอสมควร โดยเฉพาะในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่ในบ้านเราซึ่งไม่ได้ออกแบบถนนเผื่อจักรยาน วันนี้มาดูเทคนิคที่จะช่วยให้ขี่จักรยานในเมืองได้ปลอดภัยขึ้นกันครับ
ถึงเว็บนี้จะเน้นเสือหมอบแต่เทคนิคที่จะว่ากันนี้ก็น่าจะใช้ได้กับจักรยานทุกประเภท ผมเองปั่นเสือหมอบเป็นหลักและไม่ชอบเอาจักรยานใส่รถยนต์เพื่อออกไปปั่นข้างนอกไกลๆ1ทำให้ต้องฝ่าเมืองและจราจรกรุงเทพทุกวันกว่าจะได้ออกกำลังกายอย่างจริงจัง หลังจากปั่นเสือหมอบในเมืองมาเกือบปีก็รวบรวมเทคนิคการปั่นให้ปลอดภัยมาฝาก

1. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม

อันดับแรก หมวกกันน๊อก จะปั่นรถอะไรก็ตาม รถพับ รถแม่บ้าน ฟิกซ์ ภูเขา หมอบ จะออกจากบ้านใส่หมวกไว้ก่อนเลย อย่าคิดว่าออกไปใกล้ๆ ไม่เป็นไรหรอก อุบัติเหตุเกิดได้ทุกที่ครับ แม้แต่หน้าบ้านคุณเอง เพราะฉะนั้นอย่าประมาท
อีกอย่างที่แนะนำเวลาต้องไปไกลสักหน่อยคือถุงมือครับ ถ้าซื้อถุงมือที่พอดีมือมันจะไม่อึดอัดและช่วยเซฟเราได้ดีเวลาล้ม มือจะไม่ถลอกปอกเปิก
มือถือเตรียมไว้ให้พร้อม เช็คปริมาณแบตด้วยถ้าจะไปปั่นไกลๆ เผื่อรถเสียจะได้โทรให้เพื่อนหรือที่บ้านมาช่วย ถ้าหลงทางอย่างน้อยก็มี Google Maps หรือแผนที่อื่นๆ พอจะดูเส้นทางได้ครับ
ไฟหน้า ไฟท้ายต้องติดให้สว่างหากปั่นตอนกลางคืน ถ้าจะให้ดีควรซื้อไฟเล็กๆ ติดท้ายหมวกด้วยครับ ใครขี่รถยนต์ตอนกลางคืนแล้วโดนจักรยานไม่ติดไฟปั่นสวนหรือปั่นตาม คุณจะรู้ว่ามันมองแทบไม่เห็นเลยและอันตรายมากๆ อย่าคิดว่าปั่นในเมืองมีไฟท้องถนนก็สว่างพอ… คนขี่รถยนต์เขามองเห็นไม่เหมือนคนขี่จักรยานครับ มุมมองรับภาพ และโฟกัสมันไม่เหมือนกัน ขี่รถยนต์เราจะมองเห็นไม่กว้างเท่าจักรยาน ต้องคิดเผื่อเพื่อนร่วมทางด้วย

2. ผ้าปิดจมูก

ชิ้นนี้สำคัญมากครับ แต่ก่อนผมก็ไม่เคยคิดจะใส่ เวลารถติดก็ต้องดมฝุ่นควันสารพัด แต่พอได้ใส่แล้วถึงรู้ว่ามันช่วยป้องกันฝุ่นควันรถได้ดีมากๆ ถ้าซื้อผ้าที่มันระบายอากาศดีๆ หน่อยจะไม่อึดอัดเลยครับ และช่วยบังแดดได้ดีมากด้วย

3. คลีทหรือรองเท้าธรรมดา

สำหรับคนที่ปั่นจักรยานฝ่าเมืองออกไปข้างนอกเพื่อออกกำลังกายอย่างผม ยังไงก็ต้องใส่รองเท้าจักรยานที่ติดคลีทอยู่แล้ว เวลาปั่นบนถนนในเมืองต้องเจอไฟแดง รถหยุดๆ จอดๆ หรือตัดหน้าบ่อยๆ เพราะฉะนั้นหากใส่คลีทต้องมีสติดีๆ คอยปลดให้ทันครับ คนที่ปั่นมานานแล้วคงชินไม่มีปัญหา แต่คนที่พึ่งซื้อรองเท้าแบบติดคลีทมาใส่  ปั่นแถวบ้านบนถนนโล่งๆ หัดถอดใส่ให้คล่องสักสองร้อยที เวลาออกถนนใหญ่จะได้ไม่ลืม ถ้าล้มกลางถนนมันอันตราย เดี๋ยวโดนคันหลังทับ

4. ระวังทางรถไฟและลูกระนาด

ในกรุงเทพมีรางรถไฟตัดผ่านถนนพอสมควร แล้วมันอันตรายยังไง? เหล็กรางรถไฟนั้นค่อนข้างลื่นเอามากๆ บางที่รางก็จะนูนสูงขึ้นจากถนน ถ้าปั่นมาเร็วๆ อาจจะลื่นกระดกล้มได้ เจอทางรถไฟก็ลดความเร็วแล้วค่อยๆ ปั่นข้ามไม่ต้องรีบร้อน
ลูกระนาดที่ใช้ลดความเร็วรถยนต์ตามซอยต่างๆ นั้นก็อันตรายโดยเฉพาะคนที่ปั่นเสือหมอบ ลูกระนาดมีขนาดไม่เท่ากัน บ้างก็เล็กบ้างก็นูน บ้างก็กว้าง เวลาขึ้นลูกระนาดให้กำแฮนด์แน่นๆเพราะบางทีกำหลวมๆ แล้วเจอแรงสะเทือน มือหลุดจากแฮนด์ ก็ชวนล้มเอาง่ายๆ หลุมเล็กหลุมน้อยก็เหมือนกัน ถ้าไม่คุ้นชินเส้นทางต้องระวังเป็นพิเศษครับอย่าเผลอไปรูดหลุม บางอันก็ลึกกว่าที่คิด

5. ระวังแท็กซี่และรถเมล์ปาดหน้า

กรณีนี้หลายคนน่าจะเคยเจอ ถ้าคุณขี่ชิดเลนซ้ายต้องเคยโดนรถเมล์หรือแท๊กซี่เบียดเข้าซ้ายเพื่อจอดรับผู้โดยสารแน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเบียดเข้าแบบกระทันหัน เล่นเอาเรากำเบรคไม่ทัน เบรคจักรยานนั้นแรงน้อยกว่าเบรคมอเตอร์ไซค์ ต้องระวังหูไวตาไวเป็นพิเศษ​ ถ้าปั่นตามก้นรถเยอะๆ ก็อย่าไปจ่อตูดครับ ต้องเผื่อระยะเบรคด้วย หากโดนตัดหน้าแล้วต้องแซงออกก็หันไปมองรถข้างหลังก่อน เดี่ยวจะโดนเบียดเอา

6. อย่าใส่หูฟัง

เรื่องนี้ละเอียดอ่อน เพราะหลายคนก็ชอบใส่หูฟังปั่น แต่ผมคิดว่าถ้าปั่นในเมืองที่รถเยอะๆ ยังไงก็ไม่ควรใส่หูฟังฟังเพลง แค่เราขี่จักรยานเป็นหนังหุ้มเหล็กก็อันตรายพอแล้ว เราต้องการประสาทสัมผัสทั้งหมดให้เดินทางได้ปลอดภัยครับ อย่างน้อยมีรถมาข้างหลัง มีเสียงแตรบีบเตือนหรือใครตะโกนเรียกอะไรก็จะได้ยินบ้าง อีกอย่างถ้ารถเรามีปัญหา ไม่ว่าจะยางรั่ว เกียร์ ล้อ หรืออะไรหลุดร่วงก็จะไม่ได้ยินครับ
เอาไว้ปั่นข้างนอกไกลๆ ที่ไม่ค่อยมีรถราคนเดียวค่อยหยิบมาใส่นะ อยู่ในเมืองเนี่ย ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแล้วเราใส่หูฟังอยู่มันเถียงไม่ขึ้นครับ ถือว่าประมาทเลินเล่อ ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิดก็ตาม การเดินทางบนถนนนั้นมันเหมือนมีพันธสัญญาร่วมกันระหว่างคนใช้ถนนว่าเราจะไม่ทำให้อีกฝ่ายบาดเจ็บ ถ้าเราไม่เคารพกฏตรงนี้อคนอื่นก็จะอาจจะเป็นอันตรายได้ครับ

7. อย่าห้อยของไว้หน้ารถ

แฮนด์โค้งของเสือหมอบนั้นควบคุมรถได้ยากกว่าแฮนด์ตรง นั่นก็เพราะมันออกแบบมาเพื่อทำความเร็วและให้เราจับดรอปได้ลู่ลม ไม่ได้เน้นการควบคุมเหมือนแฮนด์ตรงที่ใช้ใน BMX และเสือภูเขา เวลาเจอจราจรติดขัดมากๆ ก็พยายามวางมือไว้บนฮู้ดจะได้แตะเบรคได้ไวๆ และที่สำคัญอย่าห้อยถุงพลาสติกหรือสิ่งของไว้หน้ารถ! เรื่องนี้ไม่เจอกับตัวเองคงไม่รู้ เวลาเราห้อยถุงไว้ที่ฮู้ด ถ้าของมันหนักมากๆ มันจะเวียนไปรั้งเบรคครับ อันตราย อีกอย่างถ้าถุงยาวๆ บางทีเข้าไปเกี่ยวล้อ ล้มคว่ำก็มี เสือหมอบไม่ได้ออกแบบมาให้ขนของ ถ้าจำเป็นต้องซื้อของก็ให้สะพายกระเป๋าไพล่หลังดีกว่า

8. เวลารถติด

เวลาเจอรถติดแล้วจำเป็นต้องซิ๊กแซ๊กขึ้นไปหน้าไฟแดง ให้มองรถที่มาจากข้างหลังเสมอ มอเตอร์ไซค์มักจะบิดเร่งเข้าช่องแทรกตัวขึ้นไปรอหน้าไฟแดง ซึ่งบางทีเวลาเรากำลังจะเลี้ยวออกเขามองไม่เห็นเรา เพราะรถยนต์มันบังเราอยู่ครับ ค่อยๆ มองไม่ต้องรีบ เช่นเดียวกันเวลาเราปั่นตรงๆ ขึ้นไปตามซอกรถ ก็ระวังซ้ายขวาไว้ด้วย เผื่อมีมอเตอร์ไซค์ / คนเดินออกมา
อีกอย่างคืออยู่ให้พ้นๆ สิบล้อและรถเมล์​ รถพวกนี้สูงบังเรามิด บางทีคนขับก็มองไม่เห็นเรา ให้อยู่ในระยะสายตาที่เราและคนอื่นมองเห็นกันได้ง่ายๆ จะปลอดภัยกว่า

9. เช็คจักรยานก่อน และหลังปั่น

ก่อนออกปั่น ยกล้อหน้าขึ้นหมุนล้อดูว่าแกนปลดมันหลวมหรือเปล่า เอากำปั้นทุบล้อดูสักทีว่ามันคลอนไหม2 เช็คเบรค เช็คคอรถ หลังปั่นเสร็จแล้วก็ดูสภาพรถด้วย เช็ดบ้างอะไรบ้าง พยายามเอาผ้าเปียกเช็ดยาง หมุนดูให้ทั่วว่ามีหินกรวดอะไรฝังหรือเปล่า แล้วแคะมันออก จะช่วยลดปัญหายางรั่วได้เยอะเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น